ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ |
|||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
มาตรา 66 นิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ภายในขอบแห่งอำนาจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ดังได้บัญญัติหรือกำหนดไว้ในกฎหมาย ข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้ง
|
|||||||||
คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13476 - 13482/2558 ป.พ.พ. มาตรา 65 บัญญัติว่า "นิติบุคคลจะมีขึ้นได้ก็แต่ด้วยอาศัยอำนาจแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น" มาตรา 66 บัญญัติว่า "นิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นภายในขอบแห่งอำนาจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ดังได้บัญญัติหรือกำหนดไว้ในกฎหมาย ข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้ง" เมื่อโจทก์เป็นนิติบุคคลอันเป็นบุคคลสมมุติโดยอาศัยอำนาจของกฎหมาย การยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐจึงต้องเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายโดยโจทก์ต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ และต้องเป็นกิจการที่อยู่ในขอบวัตถุประสงค์ของโจทก์ตามที่ได้จดทะเบียนไว้ด้วย เมื่อหนังสือรับรองจดทะเบียนบริษัทของโจทก์ โจทก์ไม่ได้จดทะเบียนให้มีวัตถุประสงค์ในการยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินของรัฐอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (1) ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทและไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งแปดและบริวารออกจากที่ดินพิพาทตามฟ้อง ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความยกขึ้นต่อสู้ แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ___________________________
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งแปดรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินโจทก์ซึ่งตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลฉลอง อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต และขนย้ายทรัพย์สินกับบริวารออกไปจากที่ดินโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งแปดเกี่ยวข้องกับที่ดินโจทก์อีกต่อไป ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระค่าเสียหายเดือนละ 20,000 บาท จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ชำระค่าเสียหายเดือนละ 30,000 บาท และจำเลยที่ 8 ชำระค่าเสียหายเดือนละ 100,000 บาท นับแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งแปดจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินกับบริวารออกไปจากที่ดินโจทก์ จำเลยทั้งแปดให้การขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ โจทก์อุทธรณ์ จำเลยที่ 5 ยื่นคำแก้อุทธรณ์เกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำแก้อุทธรณ์ จำเลยที่ 5 อุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับว่า ให้ขับไล่จำเลยทั้งแปดพร้อมบริวารและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาท ห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไป คำขออื่นให้ยก และมีคำสั่งไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 5 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติว่า เมื่อประมาณปี 2482 นายกอหรือนายโกยลิก้อได้รับประทานบัตรเหมืองแร่ดีบุก ตามประทานบัตรเลขที่ 6700/5622 และเลขที่ 4768/3439 ตั้งอยู่ที่ตำบลฉลอง อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต นายกอหรือนายโกยลิก้อจดทะเบียนตั้งบริษัทโจทก์ขึ้นมาดำเนินการทำเหมืองแร่จนถึงปี 2529 จึงหยุดประกอบกิจการ ปี 2547 โจทก์ยื่นคำขอรังวัดที่ดิน จำเลยทั้งแปดและชาวบ้านรวม 23 ราย คัดค้าน ในแผนที่วิวาทปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินเนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 77 ตารางวา ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ปรากฏที่ดินที่ครอบครองแต่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 เข้าครอบครองที่ดินของโจทก์เนื้อที่ประมาณ 200 ตารางวา ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การว่าครอบครองที่ดินเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่เศษ จำเลยที่ 3 ครอบครองที่ดินเนื้อที่ 70 ตารางวา และจำเลยที่ 4 ครอบครองที่ดินเนื้อที่ 1 ไร่ 20 ตารางวา และ 89 ตารางวา จำเลยที่ 5 ครอบครองที่ดินเนื้อที่ 2 ไร่ 90 ตารางวา จำเลยที่ 6 ครอบครองที่ดินเนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 47 ตารางวา จำเลยที่ 7 ครอบครองที่ดินเนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 24 ตารางวา จำเลยที่ 8 ครอบครองที่ดินเนื้อที่ 3 ไร่ 2 งาน 74 ตารางวา จำเลยที่ 8 ซึ่งเข้าไปอยู่ในที่ดินพิพาทเป็นคนแรกติดกับที่ดินของบิดามารดาและแจ้งต่อองค์การบริหารส่วนตำบลเพื่อขอชำระภาษีบำรุงท้องที่อ้างว่าได้ครอบครองที่ดินเนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ ในปี 2547 ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ข้อแรกมีว่า โจทก์ไม่อาจนำสืบว่าที่ดินพิพาทตั้งอยู่ที่ใดจะอยู่ในเขตประทานบัตรทั้งสองแปลงหรือไม่ และที่ดินพิพาทโจทก์ไม่เคยครอบครองทำประโยชน์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ตามรูปแผนที่ท้ายฟ้อง ระบุว่าที่ดินพิพาทตั้งอยู่ในเขตประทานบัตรเลขที่ 4768/3439 ทั้งจำเลยไม่ได้นำสืบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประทานบัตรเลขที่ 4768/3439 ให้ชัดและโจทก์มีประทานบัตรเลขที่ 4768/3439 มาแสดง ข้อเท็จจริงฟังได้ตามพยานหลักฐานของโจทก์ว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตประทานบัตรของนายกอหรือนายโกยลิก้อตามฟ้อง ชั้นอุทธรณ์จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7 ยื่นคำแก้อุทธรณ์ว่า จำเลยดังกล่าวเห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นทุกประการและสรุปว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าอยู่ในเขตประทานบัตรหมายเลข 4768/3439 ที่นายกอหรือนายโกยลิก้อได้รับอนุญาตจากทางราชการเมื่อปี พ.ศ.2548 ส่วนจำเลยที่ 6 และที่ 8 ก็ไม่ได้แก้อุทธรณ์โต้แย้งว่าที่ดินพิพาทไม่ได้อยู่ในที่ดินแปลงประทานบัตรเลขที่ 4768/3439 ข้อเท็จจริงจึงฟังยุติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตประทานบัตรเหมืองแร่เลขที่ 4768/3439 ที่ทางราชการออกให้นายกอหรือนายโกยลิก้อตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 จึงไม่มีสิทธิฎีกาในปัญหาดังกล่าวถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 8 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 65 บัญญัติว่า "นิติบุคคลจะมีขึ้นได้ก็แต่ด้วยอาศัยอำนาจแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น" มาตรา 66 บัญญัติว่า "นิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นภายในขอบแห่งอำนาจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ดังได้บัญญัติหรือกำหนดไว้ในกฎหมาย ข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้ง" เมื่อโจทก์เป็นนิติบุคคลอันเป็นบุคคลสมมุติโดยอาศัยอำนาจของกฎหมาย การยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐจึงต้องเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายโดยโจทก์ต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ และต้องเป็นกิจการที่อยู่ในขอบวัตถุประสงค์ของโจทก์ตามที่ได้จดทะเบียนไว้ด้วย เมื่อพิจารณาหนังสือรับรองจดทะเบียนบริษัทของโจทก์ โจทก์ไม่ได้จดทะเบียนให้มีวัตถุประสงค์ในการยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินของรัฐอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (1) ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทและไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งแปดและบริวารออกจากที่ดินพิพาทตามฟ้อง ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความยกขึ้นต่อสู้ แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัย อนึ่ง เห็นสมควรชี้ขาดว่าคำพิพากษาศาลฎีกาให้มีผลถึงจำเลยที่ 8 ซึ่งไม่ได้ยื่นฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5), 245 (1), 246, 247 สำหรับปัญหาข้ออื่นตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ศาลฎีกาเห็นสมควรไม่ยกขึ้นวินิจฉัย พิพากษากลับให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8658 - 8686/2542 ตามบทบัญญัติมาตรา 65, 66 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ไม่ได้บัญญัติให้ยกเลิกมิซซังโรมันคาธอลิคว่าไม่เป็นนิติบุคคล แต่ได้บัญญัติรับรองไว้ว่านิติบุคคลจะมีขึ้นได้ก็แต่ด้วยอาศัยอำนาจแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น และนิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ภายในขอบแห่งอำนาจหน้าที่ หรือวัตถุประสงค์ดังได้บัญญัติหรือกำหนดไว้ในกฎหมายข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้ง โจทก์เป็นมิซซังโรมันคาธอลิคเป็นนิติบุคคลอยู่ก่อนแล้วตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยลักษณะฐานะของวัดบาดหลวงโรมันคาธอลิคในกรุงสยามตามกฎหมาย ร.ศ.128 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษยังใช้บังคับจนปัจจุบันนี้ พระราชบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นกฎหมายอื่นฉบับหนึ่งตามความหมายของ ป.พ.พ.มาตรา 65 โจทก์จึงย่อมมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายอยู่ต่อไป
|